กลารีส โวซ์ นักเต้นจากคณะสตีลิสติก กล่าวว่า
นักเต้นฮิปฮอปแต่ละคนจะพัฒนาท่าจากคนที่มาเต้นประชันกัน แต่เธอ
และอับดูคิดท่าเต้นจากเรื่องราว และความรู้สึกที่ต้องการสื่อ
โดยใส่การเต้นคู่และสัมผัสกันอันเป็นท่วงท่าคลาสสิกของบัลเลต์
และการเต้นสมัยใหม่เข้าไป พร้อมอารมณ์ที่แสดงออกผ่านสีหน้า
และมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา
จึงทำให้การแสดงแต่ละชุดยังคงมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ
ท่วงท่าที่ไม่มีรูปแบบ
และกฏเกณฑ์ที่แน่นอนแต่สื่ออารมณ์นักเต้นได้อย่างชัดเจน
ทั้งยังมีที่มาจากวัฒนธรรมคนผิวสีคือ จุดเด่นของการเต้นแนวฮิปฮอปที่ อับดู แอนกงม์
เลือกใช้เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การชีวิตในสังคมที่ยังคงมีการเหยียดผิว
และการแบ่งแยกเชื้อชาติอยู่ ความรู้สึกสับสน ความยากลำบาก และการค้นหาตัวตน
ของการอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 เชื้อชาติ 2 วัฒนธรรม
ถูกถ่ายทอดอย่างลึกซึ้งผ่านการแสดงเดี่ยว “Entre deux”
อับดู
แอนกงม์ นักเต้นจากคณะสตีลิสติก กล่าวว่า “Entre deux” บอกเล่าเกี่ยวกับตัวตนของเขา
รวมถึงความยากลำบากในการเป็นคนผิวสีที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิด
และสิ่งสำคัญที่เขาต้องการสื่อคือ
การเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาสังคมโดยไม่ละทิ้งตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคนไป
แคลร์ คีฟ ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ กล่าวว่า
ฮิปฮอปอาจดูสมัยใหม่ และนอกกรอบเกินไปสำหรับคนรุ่นก่อน
แต่การแสดงนี้ทำให้เห็นว่าฮิปฮอปก็สามารถสื่อสารผ่านท่วงท่าที่อ่อนช้อย
งดงามได้เช่นกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเสนอการแสดงของฝรั่งเศสยุคใหม่ได้ดีทีเดียว คณะสตีลิสติก ได้ตระเวนออกแสดงทั่วประเทศฝรั่งเศส
ก่อนจะมาเปิดการแสดงที่ทวีปเอเชียเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
หลังเสร็จสิ้นการแสดงที่กรุงเทพฯ
คณะสตีลิสติกได้เดินสายไปเปิดการแสดงฮิปฮอปร่วมสมัยกับนักเต้นชาวลาวในชุด Same Same ที่ประเทศลาว
และเวียดนามต่อไป