วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

โอเมก้า 3 ในปลาไทยไม่น้อยหน้าปลาต่างชาติ

คนรักสุขภาพต้องเคยได้ยินชื่อ โอเมก้า 3” กันมาบ้าง  โอเมก้า 3 คือกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร กรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ กรดอัลฟ่าไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic acid) มีอยู่ในน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันปลา น้ำมันถั่วเหลือง  โอเมก้า 3 จะทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายคนเราสามารถเปลี่ยนไปเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 อีก 2 ชนิดที่สำคัญ คือ อีพีเอ-EPA (Eicosapentaenoic  Acid) และ ดีเอชเอ-DHA (Docosahexaenoic  Acid)   
โอเมก้า 3 มีประโยชน์สำหรับคนทุกช่วงวัย โอเมก้า 3 และดีเอชเอ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมองและจอประสาทตาของทารกในครรภ์มารดาและเด็กเล็กๆ  ดังจะเห็นว่ามีการเติมโอเมก้า 3 และดีเอชเอ ในนมผงสำหรับเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โอเมก้า 3 ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลดการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ยากขึ้น ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ และยังกระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมองช่วยต้านอาการซึมเศร้า 
คนทั่วไปมักคิดว่าโอเมก้า 3 มีอยู่แต่ในปลาทะเลน้ำลึกของต่างประเทศเท่านั้น  แต่ในความเป็นจริงปลาน้ำจืดของไทยก็มีโอเมก้า 3 สูงไม่แพ้ปลาทะเล แถมราคาถูกกว่าอีกด้วย  ตัวอย่างเช่น ปลาทู มีโอเมก้า 3 ถึง 1,636 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม (ดังตาราง) ในขณะที่ปลาแซลมอนมีโอเมก้า 3 ประมาณ 1,000-1,700 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม 
ตารางแสดงปริมาณโอเมก้า 3 ในปลาบางชนิด
ลำดับที่
ชนิดปลา
ปริมาณโอเมก้า 3 (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม)
1
ปลากระพงแดง
459
2
ปลากระพงขาว
360
3
ปลาจะละเม็ดขาว
430
4
ปลาช่อน
1,052
5
ปลาดาบเงิน
516
6
ปลาดุกอุย
258
7
ปลาทู
1,636
8
ปลาน้ำดอกไม้
765
9
ปลาเนื้ออ่อน
622
10
ปลาสวาย
2,111
11
ปลาอินทรีย์
882
ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนั้นปลายังเป็นเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ กินปลาแทนเนื้อสัตว์อื่นเป็นประจำ จึงช่วยลดไขมันในเลือด จะให้ดีต้องกินปลาไม่น้อยกว่า 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ การกินปลาอย่างสม่ำเสมอยังจะช่วยให้ได้รับโอเมก้า 3 เพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อน้ำมันปลามาทานเพิ่ม เพราะการได้รับน้ำมันปลาชนิดที่เป็นเม็ดเสริมมากเกินไป อาจเกิดปัญหาเลือดออกง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทานยาแอสไพรินอยู่ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้